วันอาทิตย์ที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2556

หลอดเลือดหัวใจอุดตัน

กล้ามเนื้อหัวใจตาย 

(Myocardial infarction) 



 คัดลอดบทความจากโรงพยาบาลเจ้าพระยา

  คำจำกัดความ เป็นความผิดปกติที่เกิดจากกล้ามเนื้อหัวใจถูกทำลายเสียหายจากการที่เลือดและออกซิเจนไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจส่วนนั้นไม่เพียงพอ
ปัจจุบันพบว่าหัวใจเป็นสาเหตุการเสียชีวิตสูงสุด 3 อันดับแรกในคนไทย อันได้แก่ อุบัติเหตุ มะเร็งและโรคหัวใจ
   หัวใจของเราเป็นอวัยวะหนึ่งที่ทำงานหนักที่สุดตลอดชีวิต หลอดเลือดที่มาเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจประกอบด้วยหลอดเลือดแดงหลัก 2 เส้น เรียกว่า หลอดเลือดแดงโคโรนารีย์ ด้านขวา 1 เส้น และด้านซ้าย 1 เส้น ซึ่งด้านซ้ายจะแตกแขนงออกเป็น 2 เส้นใหญ่ นอกจากนั้นแต่ละเส้นยังส่งแขนงย่อยๆ ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจอีกด้วย ดังนั้นหากหลอดเลือดเลี้ยงหัวใจเหล่านี้เกิดการตีบหรืออุดตัน ก็จะนำไปสู่โรคหัวใจขาดเลือดกล้ามเนื้อหัวใจตายได้ กล้ามเนื้อหัวใจตาย เป็นผลขั้นสุดท้ายของหลอดเลือดโคโรนารีอุดตัน หรือมีการหดตัวอย่างรุนแรงและเป็นเวลานาน ทำให้เนื้อเยื่อบริเวณนั้นเสียหายอย่างถาวร จากการขาดออกซิเจนและสารอาหารอย่างรุนแรง เมื่อนานเข้าก็เกิดความเสียหายที่ไม่สามารถคืนดีดังเดิมได้ กล้ามเนื้อหัวใจที่ตายจะหยุดทำงาน ผู้ป่วยอาจเสียชีวิตตั้งแต่แรกจากภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ (Ventricular fibrillation) หรืออาจตายจากภาวะหัวใจวายในเวลาต่อมา  การเกิดกล้ามเนื้อหัวใจ ตายนับเป็นภาวะฉุกเฉินที่อันตรายยิ่ง เพราะผู้ป่วยอาจเสียชีวิตทันทีถึงครึ่งหนึ่ง ณ ที่เกิดเหตุ โดยมีสาเหตุจากการนำไฟฟ้าที่ผิดปกติเป็นผลให้หัวใจ เต้นผิดจังหวะ การใช้ไฟฟ้าช็อคหัวใจให้กลับมาเต้นปกติร่วมไปกับการปั๊มหัวใจ และช่วยการหายใจอย่างมีประสิทธิภาพจะสามารถรักษาชีวิตผู้ป่วยไว้ได้ในขั้น ต้น
สาเหตุใหญ่ของหลอดเลือดหัวใจตีบหรือตัน

                เพราะมีการสะสมของสารต่างๆ หลายชนิดบนผนังหลอดเลือด สารที่เกิดการสะสมมากที่สุดก็คือไขมัน และคอเลสเทอรอล คือ ไขมันตัวร้ายที่สุด ที่ไปสะสมอย่างตามผนังหลอดเลือด การสะสมของไขมันนี้เกิดตั้งแต่ในช่วงวัยรุ่น โดยมีลักษณะเป็นปื้นไขมันเล็กๆ สีเหลือง ซึ่งอาจหายไปได้หลังจาก ได้รับการรักษา โคเลสเตอรอลในร่างกายของเรามาจาก 2 แหล่งคือ ส่วนที่ร่างกายสร้างขึ้นเองและส่วนที่มาจากอาหาร ตามปกติโคเลสเตอรอลเป็นสารไขมัน ที่ให้ประโยชน์ ร่างกายมีกลไกที่ควบคุมดูแลโคเลสเตอรอลไม่ให้สร้างปัญหาขึ้นได้ แต่บางครั้งกลไกควบคุมนั้น ก็อาจเกิดปัญหาขึ้นมาเสียเองที่หลอดเลือด โดยมีพังผืดหุ้มไว้บางๆเมื่อเปลือกหุ้มไขมันนี้เกิดปริแตกออก ก็จะทำให้ไขมันข้างใต้เป็นแผลให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน
ปัจจัยเสี่ยงสำคัญ
พบว่าปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคนี้ ได้แก่ อายุ เพศ โดยเฉพาะชาย (ฮอร์โมนเอสโตรเจนในเพศหญิงจะช่วยป้องกันโรคนี้) พันธุกรรมก็เป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยง ไม่เปลี่ยนแปลงได้ ส่วนปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ ได้แก่
1. ความดันโลหิตสูง
2. โคเลสเตอรอลในเลือดสูง
3. โรคเบาหวาน
4. ภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วน
5. สูบบุหรี่จัด   อัตราการเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากหัวใจวายในคนที่สูบบุหรี่นั้นมากกว่าคนที่ไม่สูบบุหรี่อย่างน้อย 2 เท่า
6. ขาดการออกกำลังกาย
อาการเจ็บหน้าอกจากโรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย
                เป็นความรู้สึกบีบรัดและแน่นอึดอัด เหมือนมีอะไรมาทับที่บริเวณกลางหน้าอก หรือส่วนบนของร่างกาย   อาจมีอาการปวดร้าวไปตามแขน คอ กราม อาการมักจะรุนแรงและอาจมีเหงื่อแตกร่วมด้วย  อาการมักจะเป็นเวลานานมากกว่า 20 นาที มักพบในคนวัยกลางคน และผู้สูงอายุส่วนใหญ่มักจะมีอาการ เมื่อออกกำลังกาย และรู้สึกทุเลาเมื่อได้พัก อย่างไรก็ตาม ในบางคนอาจพบอาการเจ็บหน้าอกขึ้นเองในขณะพัก อาการเจ็บหน้าอกสามารถรักษาได้หลายวิธี ตามคำแนะนำจากแพทย์ แต่ในบางครั้งก็อาจมีอาการที่แตกต่างกันไป เช่น ท้องอืด อาหารไม่ย่อย หายใจขัด หอบเหนื่อย เป็นลม
การตรวจ

การตรวจร่างกายมักจะพบว่ามีชีพจรเบาเร็ว ความดันอาจจะปกติ ต่ำหรือสูงก็ได้ อาจได้ยินเสียงผิดปกติของการบีบตัวของหัวใจหรือได้ยินเสียงฟู่ (Murmur) เสียงผิดปกติของปอดจากภาวะน้ำท่วมปอด (Crepitation)
1. ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (E.K.G)
2. การตรวจเลือดหาเอ็นไซม์ที่แสดงถึงการที่มีกล้ามเนื้อหัวใจตาย เช่น Troponin-T, Troponin-I, CK-MB
3. การตรวจเอ็กซเรย์ปอด
4. การตรวจคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง (Echo-Doppler)

การรักษา

การรักษาภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตาย เป็นการรักษาที่เร่งด่วน จำเป็นต้องรับการรักษาอยู่ในโรงพยาบาล 1-14 วัน ต้องอยู่ใน C.C.U. เพื่อติดตาม ดูการเต้นหัวใจอย่างใกล้ชิด เนื่องจากอาจเกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ ภาวะหัวใจล้มเหลวได้ ผู้ป่วยจะต้องรับออกซิเจนเพื่อให้กล้ามเนื้อหัวใจ ได้รับออกซิเจนเพิ่มขึ้น  นอนพักบนเตียงเพื่อให้หัวใจทำงานน้อยที่สุด การได้รับยาต่างๆ เช่น ยาขยายหลอดเลือด ยาลดการทำงานของหัวใจ ยาต้านการเกาะตัวของเกร็ดเลือด ยาลดไขมัน ยาละลายลิ่มเลือด เป็นต้น การรักษาทันท่วงทีรวมทั้งการปฏิบัติการกู้หัวใจ และการเปิดหลอดเลือด ที่อุดตันให้เร็วที่สุดเพราะยิ่งเวลาผ่านไป (เกิน 6 ช.ม.) ผนังกล้ามเนื้อที่ขาดเลือดก็จะยิ่งถูกทำลาย อาจทำให้เกิดภาวะหัวใจวายในเวลาต่อมา การแก้ไขให้เลือดไหลผ่านโดยเร็วจะสามารถช่วยชีวิตผู้ป่วย และป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจจะเกิดตามมาได้ การรักษาที่ได้ผลดีที่สุดก็ คือ การขจัด ก้อนเลือดที่อุดตันนี้โดยเร็ว ซึ่งอาจทำได้ด้วยการให้ยาละลายลิ่มเลือดหรือการใช้ลูกโป่งขยายหลอดเลือด
ยาละลายลิ่มเลือด : จะต้องให้ภายใน 6 ชั่วโมง โดยต้องไม่มีข้อห้ามใช้ซึ่งแพทย์ผู้ให้การรักษาจะเป็นผู้พิจารณาการให้ยาละลายลิ่มเลือด
การขยายหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจ ด้วยสายสวนพิเศษชนิดบอลลูนหรือการใช้ขดลวดค้ำยันร่วมด้วย
เป็นการรักษาที่ดีและได้ผลรวดเร็ว ซึ่งอาจทำได้เลยตั้งแต่ผู้ป่วยมาถึงหรือมีข้อจำกัดไม่สามารถให้ยาละลายลิ่ม เลือดได้ หรือในกรณีที่ให้ยาละลายลิ่มเลือดแล้วผู้ป่วยยังมีอาการเจ็บหน้าอกอยู่
การป้องกัน

หลีกเลี่ยงอาหารไขมันสูง ลดปริมาณไขมันในอาหาร
1. เลิกบุหรี่โดยเด็ดขาด
2. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
3. ควบคุมเบาหวานและความดันโลหิตสูง
4. ทำจิตใจให้ผ่องใส ควบคุมอารมณ์ ไม่เครียด
5. ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ไม่อ้วน

คำแนะนำสำหรับผู้ป่วย : งดบุหรี่โดยเด็ดขาด รับประทานยาลดไขมันในเลือดหากควบคุมอาหารไม่ได้ผลดี ให้โคเลสเตอรอลน้อยกว่า 200, LDL น้อยกว่า 100 ควบคุมเบาหวาน ความดันโลหิตให้ปกติ ออกกำลังกายตามคำแนะนำของแพทย์ หากแน่นหน้าอกรุนแรงต้องรีบมาโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดทันที
 วีดีโอคำแนะนำสำหรับการเตรียมตัวเพื่อการฉีดสีหลอดเลือด



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น